หม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล เป็นพระธิดาองค์ที่ ๓ ในสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ กับ หม่อมใหญ่ เทวกุล ณอยุธยา เมื่อยังทรงพระเยาว์ได้ทรงศึกษาหนังสือไทยในพระบรมมหาราชวัง พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์อีกหลายพระองค์ และต่อมาได้ทรงศึกษาในโรงเรียนสุนันทาลัย เมื่อพระชันษา ๑๒ ปี จนสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ ทรงเริ่มชีวิตการเป็นครูโดยเสด็จไปถวายพระอักษรภาษาอังกฤษแด่พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหลายพระองค์ ในปี พ.ศ.๒๔๔๙ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงตั้งโรงเรียนราชินีขึ้นที่ถนนมหาราช คือ โรงเรียนราชินีในปัจจุบัน ได้โปรดเกล้า ฯ ให้หม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิราภา เทวกุล เป็นครูสอนพิเศษ ทรงดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนราชินีตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๐ ถึง พ.ศ.๒๔๘๖ รวมเวลา ๓๖ ปี ตลอดเวลาที่พระองค์ท่านทรงดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่นั้น ทรงริเริ่มงานต่าง ๆ อันก่อให้เกิดประโยชน์แก่โรงเรียน และวงการศึกษาเป็นอย่างมาก เช่น ทรงก่อตั้งกิจการยุวกาชาด และทรงจัดสอนอนุบาลแบบสมัยใหม่ ทรงให้มีการสอนวิชาวาดเขียน เย็บปักถักร้อย และการทำดอกไม้ด้วยผ้าหรือกระดาษ ส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนเพิ่มเติมนอกเหนือจากหลักสูตรของกระทรวงธรรมการในสมัยนั้น ทรงนิพนธ์บทเพลงสอนใจเด็กโดยแทรกธรรมะ บทพระนิพนธ์ที่พวกเรารู้จักกันดี คือ พิกุลแก้ว ซึ่งนิพนธ์ขึ้นสำหรับนักเรียนราชินีโดยเฉพาะ เพื่อให้นักเรียนทุกคนรู้จักรักษาความดี รักษาเกียรติของตนไว้ให้คงอยู่ตลอดไปชั่วชีวิต เหมือนกลิ่นหอมของดอกพิกุลที่คงหอมหวนอยู่นานนั่นเอง
ทรงนิพนธ์บทละคร บทเพลง และกาพย์ กลอน คติธรรม
ทรงเปิดหน่วยอนุกาชาดขึ้นเป็นหน่วยแรกในโรงเรียนราชินี
ทรงจัดการสอนอนุบาลแบบสมัยใหม่ตามหลักวิชาของมอนเตสซอรี และโฟลแบร์
หม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิราภา เทวกุล ทรงคุณสมบัติของครูผู้ยิ่งใหญ่ ดังจะขอยกมากล่าวสัก ๓ ประกาศ คือ
ประการแรก
ทรงมั่นในพรหมวิหารธรรมและอิทธิบาทธรรม และทรงบำเพ็ญพระองค์สมเป็นแบบพิมพ์ที่ดีของครู
ประการที่สอง
ทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านการสอนทรงรู้จักเด็กเป็นอย่างดี และทรงใช้กลวิธีสอนเหมาะสมกับธรรมชาติของเด็กแต่ละวัยนับตั้งแต่ชั้นอนุบาลทารกไปจนถึงชั้นมัธยมตอนปลาย เพราะทรงศึกษาจิตวิทยาเด็กและทรงทดลองใช้หลักวิชาของมอนเตสซอรี และโฟลแบร์ ในการสอนเด็กเล็ก ๆ และปรากฏผลสำเร็จอย่างงดงาม คือสามารถชนะจิตใจเด็กทุกรุ่น เด็ก ๆ รัก เคารพ และเชื่อฟังพระองค์ท่านได้ โดยไม่ต้องมีการลงโทษ ทรงริเริ่มใช้กิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้เพลงและละครเป็นสื่อ ทำให้เด็กสนุกเพลิดเพลินและเกิดการเรียนรู้ในข้อธรรมะง่าย ๆ อันควรแก่การปฏิบัติไปโดยไม่รู้ตัว และคุณธรรมเหล่านั้นก็ได้ช่วยหล่อหลอมกล่อมเกลาจิตใจเด็กให้เจริญเป็นพลเมืองดีเมื่อเขาเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่
ประการที่สาม
ทรงบำเพ็ญพระองค์ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง คือ ทรงวางรากฐานการศึกษาของสตรีไทยช่วยให้สตรีไทยเริ่มสามารถก้าวออกมาบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมโดยมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นภรรยาและมารดาที่ดี นอกจากนั้นยังทรงริเริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ โดยทรงอบรมให้นักเรียนทุกรุ่นทุกวัยมีสามัคคีธรรม สามารถรวมกำลังกันทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติได้ อาทิ ทรงเปิดหน่วยอนุกาชาดขึ้นเป็นหน่วยแรกในโรงเรียนราชินี ทรงร่วมจัดตั้งมูลนิธิช่วยคนตาบอด ทรงจัดตั้งสมาคมนักเรียนเก่าโรงเรียนราชินีขึ้นเป็นสมาคมแรก นับเป็นก้าวแรกของสตรีไทยในการพัฒนาประเทศและได้เป็นแบบอย่างให้วงการศึกษาของโรงเรียนสตรีต่าง ๆ ได้ดำเนินตามสืบมา
หม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิราภา เทวกุล ได้ทรงอุทิศเวลาส่วนใหญ่ให้แก่การจัดการศึกษาและการอบรมสั่งสอนนักเรียนในโรงเรียนราชินี เพื่อให้เป็นกุลสตรีที่มีคุณสมบัติเพียงพร้อม ครั้นถึง พ.ศ.๒๔๗๒ เมื่อสมเด็จพระปิตุจฉา เจ้าฟ้ากรมหลวงเพ็ชรบุรีราชสิรินธร ทรงสร้างโรงเรียนราชินีบนขึ้นอีกแห่งหนึ่งด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โปรดให้หม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิราภา เทวกุล ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่องค์แรกและเป็นผู้จัดการทั้งสองโรงเรียน
หม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิราภา เทวกุล ได้ทรงงานด้วยความรัก ทรงเสียสละทั้งพระวรกาย พระกำลังและพระกำลังปัญญา ตลอดจนทรงมีพระขันติธรรมอันยิ่งใหญ่ยากที่จะหาผู้ใดสมอได้ จากเดิมที่มีตึก ๓ หลัง ขยายออกไปกว้างขวาง จากมีนักเรียน ๖๖ คน ไปถึง ๑,๑๗๐ คน และโรงเรียนราชินีบนอีก ๑๗๗ คน ผลงานที่ปรากฏแสดงถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และการจัดประสบการณ์ที่ดีให้นักเรียนเป็นอเนกประการ
หม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิราภา เทวกุล ถึงชีพิตักษัยเมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๖
Copyright © 115 All rights Reserved.
โรงเรียนราชินี 444 ถนนมหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
โทรศัพท์ 0-2221-1501 อัตโนมัติ 8 เลขหมายโทรสาร 0-2222-6883